เชื่อว่ามีหลายคนที่มักจะใช้เวลาในการนั่งห้องน้ำนาน ๆ อาจนำหนังสือติดมือสักเล่มเข้าไปอ่าน ติดมือถือเข้าไปไถเล่นให้พอเพลิน ๆ ลืมเวลาอันน่าเบื่อ และช่วงเวลานี้อาจเป็นเวลาส่วนตัว ช่วยหลีกหนีความวุ่นวายได้ชั่วขณะหนึ่งของใครบางคน แต่ถ้าใช้เวลาแบบนี้ไปกับการถ่ายหนัก อาจทำให้ร่างกายเคยชิน และส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ โดยแพทย์ได้เผยว่า การใช้เวลาถ่ายหนักเกิน 5 นาที เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาเกี่ยวกับลำไส้และทวารหนัก 5 ประการ ตามมาได้ ดังต่อไปนี้
1. อาการไม่สบายท้อง
ระหว่างที่นั่งชักโครก จะมีการกดทับช่องท้อง หากมีช่องท้องมีการกดทับเป็นเวลานาน ๆ ส่งผลต่อการทำงานของระบบย่อยและการดูดซึม อาจทำให้เกิดอาการไม่สบายท้อง เช่น เป็นตะคริวในช่องท้อง ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย ท้องอืด ท้องผูก เป็นต้น
2. อาการท้องผูก
การนั่งชักโครกนาน ๆ โดยเฉพาะการนั่งถ่ายอุจจาระเกิน 5 นาที อาจทำให้อุจจาระแข็งและแห้ง ยิ่งทำให้ถ่ายยากขึ้น เป็นสัญญาณบ่งบอกว่ามีอาการท้องผูก
3. รอยแยกทางทวารหนัก
เมื่อมีอาการท้องผูกเป็นเวลานาน ๆ หรือท้องผูกเรื้อรัง การเบ่งอุจจาระบ่อย ๆ หรือถ่ายอุจจาระแข็งและแห้งบ่อย ๆ อาจทำให้เกิดรอยแยกทางทวารหนัก มีแผล เกิดอาการเจ็บ หรือปวด และมีเลือดออก
4. อวัยวะทางทวารห้อยยาน
หากมีอาการท้องผูกบ่อย ๆ ลำไส้เคลื่อนไหวลำบาก การเบ่งอุจจาระหนักเป็นประจำ ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของลำไส้ หูรูด และอวัยวะทางทวาร เสี่ยงต่อการเกิดการห้อยยานของอวัยวะทางทวาร อย่าง หูรูดหรือไส้เลื่อนลงสู่ทวารหนัก
5. โรคสีดวงทวาร
การนั่งชักโครกเป็นเวลานาน ๆ จะไปเพิ่มความดันในช่องท้อง ทำให้ระหว่างอุจจาระมีเลือดไหลเข้าหลอดเลือดดำทางทวารหนักน้อยลง และจะไปสะสมตามผนังหลอดเลือดของทวารหนัก จนก่อให้เกิดโรคริดสีดวงทวารหนักในที่สุด
วิธีแก้ท้องผูก
สำหรับผู้ที่มักจะใช้เวลาถ่ายนาน หรือมีอาการท้องผูก มีวิธีแก้ปัญหาท้องผูก ดังนี้
1. ทานไฟเบอร์ให้เพียงพอ
ทานอาหารที่มีไฟเบอร์ให้เพียงพอ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี จะช่วยเพิ่มปริมาณอุจจาระ และยังทำให้อุจจาระนิ่มขึ้น อีกทั้งไฟเบอร์จะไปกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ ให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ถ่ายง่ายขึ้น ไม่ต้องเบ่งจนเสี่ยงต่อโรคริดสีดวงถามหา
2. ดื่มน้ำให้เพียงพอ
น้ำจะช่วยให้อุจจาระนิ่ม ถ่ายได้ง่ายขึ้น และมีส่วนในการช่วยให้การเคลื่อนไหวของลำไส้ทำได้ยากขึ้น ลดความเสี่ยงต่อการเกิดลำไส้เลื่อน และริดสีดวงทวาร
3. ฝึกถ่ายอุจจาระเป็นเวลา
สร้างนิสัยการถ่ายอุจจาระที่ดี ด้วยการฝึกถ่ายอุจจาระเป็นเวลาเดิมอย่างสม่ำเสมอ เช่น ถ่ายหลังตื่นนอน ถ่ายหลังอาหารมื้อเย็น หรือถ่ายก่อนนอน เป็นต้น เพื่อให้ร่างกายจดจำและสามารถถ่ายเป็นเวลาตามที่กำหนด
4. เข้าห้องน้ำทันทีเมื่อร่างกายส่งสัญญาณ
เมื่อร่างกายส่งสัญญาณ ทำให้รู้ว่าต้องถ่ายอุจจาระ ควรรีบเข้าห้องน้ำทันที ไม่ควรชะลอ หรืออั้นไว้ แม้จะติดการทำงาน เพราะการเข้าถ่ายช้าเท่าไร ยิ่งส่งผลเสียต่อระบบขับถ่าย ก่อให้เกิดการสะสม จนอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ และทำให้แย่ลงเรื่อย ๆ
5. อย่าเกร็งหรือเบ่งอุจจาระ
อย่าเกร็งในขณะที่ถ่ายหนัก เพราะการเบ่งอุจจาระจะไปเพิ่มแรงกดดันต่อทวารหนัก อาจทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ต่อระบบลำไส้ และทวารหนัก จนนำไปสู่ปัญหาใหญ่ตามมาได้ จึงไม่ควรออกแรงเบ่ง แต่ควรปล่อยให้เป็นไปตามปกติ
6. ออกกำลังกาย
การออกกำลังกาย การที่ร่างกายได้มีการเคลื่อนไหวอย่างเหมาะสม จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับอวัยวะทุกส่วน เพิ่มการไหลเวียนของเลือด กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบย่อยและขับถ่าย ช่วยป้องกันอาการท้องผูก และโรคต่าง ๆ ได้ดี
7. ใช้เวลานั่งชักโครกอย่างเหมาะสม
การนั่งชักโครก หรือการถ่ายอุจจาระ ไม่ควรใช้เวลาเกิน 5 นาที โดยปกติสำหรับผู้ใหญ่ควรใช้เวลาภายใน 3 – 5 นาที ไม่ควรนั่งนานเกินนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงโรคริดสีดวงทวาร และอาการอื่น ๆ ที่เป็นปัญหาจากการนั่งถ่ายนานเกินไป