อากาศร้อนในเมืองไทย ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่มักอาศัยความเย็นของ แอร์ เป็นตัวช่วยดับร้อน ไม่ว่าจะในบ้านเรือน สำนักงาน ห้างสรรพสินค้า โรงแรม หรือร้านค้าภายในอาคารต่าง ๆ แต่รู้ไหมว่าแอร์สกปรกก่อให้เกิดโรค
สำหรับผู้ที่ต้องทำงานอยู่ห้องแอร์ทั้งวัน หรือเมื่ออยู่ในห้องแอร์นาน ๆ แล้วปวดหัว บางคนอยู่ในห้องแอร์แล้วตัวร้อน อาจเป็นเพราะอุณหภูมิภายนอกที่หนาวเย็นเกินลิมิตของร่างกายจะรับไหว หรืออาจเพราะเริ่มมีอาการไข้ จากการได้รับเชื้อโรคในแอร์สกปรก แอร์ที่ไม่ได้ทำความสะอาดเป็นเวลานาน ซึ่งความชื้นจากตัวแอร์และท่อน้ำทิ้งนี้เอง ที่เป็นแหล่งเจริญเติบโตของเชื้อโรคต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น เชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือ เชื้อรา โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย ลิจิโอเนลลานิวโมฟิวลา ที่ส่งผลต่อสุขภาพ ก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วย หลังจากได้หายใจเอาเชื้อโรคชนิดดังกล่าวที่ปะปนอยู่ในฝอยละอองน้ำที่ถูกขับพ่นมาจากในท่อแอร์ ก่อให้เกิดโรคลิเจียนแนร์ (Legionellosis)

โรคลิเจียนแนร์ Legionellosis คืออะไร
โรคลิเจียนแนร์ เกิดจาก การติดเชื้อแบคทีเรียลีจิโอเนลลา นิวโมฟิลา (Legionella pneumophila) ที่ลอยอยู่ปะปนอยู่ในอากาศที่เราหายใจเข้าไป ซึ่งมักจะพบได้ในบริเวณที่มีอากาศชื้น หรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวกับน้ำและความชื้น เช่น เครื่องปรับอากาศ พัดลมไอน้ำ เครื่องเพิ่มความชื้น ฝักบัวอาบน้ำ ก๊อกน้ำ สระน้ำ น้ำพุ อ่างน้ำร้อน และในบริเวณที่มีความชื้นสูง อุณหภูมิสูง หรือ น้ำขังนิ่ง

การติดต่อโรคลิเจียนแนร์
ไม่พบติดเชื้อจากคนสู่คน ส่วนใหญ่จะพบในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายบกพร่อง พักผ่อนไม่เพียงพอ เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคปอด โรคมะเร็ง โรคไต ที่ถูกจัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องคอยระวัง
โรคลิเจียนแนร์อาการมี 2 แบบด้วยกัน ได้แก่
- โรคปอดอักเสบลิเจียนแนร์ เนื่องจากเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้วไปปอด ทำให้ปอดอักเสบรุนแรง มีไข้สูง ไอ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย และอาจเสียชีวิตได้
- โรคลิเจียนแนร์แบบไม่มีปอดอักเสบ เรียกว่า ปอนเตียก หรือ Pontiac fever คือ โรคที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ มีไข้ ไอ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว คลื่นไส้ อาเจียน สามารถหายได้เองภายใน 2-5 วัน

โรคลีเจียนแนร์ ป้องกันได้อย่างไร
- ล้างทำความสะอาดแอร์เป็นประจำ อย่างน้อยเดือนละครั้ง หรือตามความเหมาะสมกับสภาพสิ่งแวดล้อมและการใชังาน หากเปิดแอร์เป็นประจำทุกวัน หรืออยู่ใกล้บริเวณก่อสร้างหรือมีฝุ่นละอองเยอะ ก็อาจต้องล้างแอร์บ่อยขึ้น และหากเป็นแอร์บ้านควรล้างแผ่นกรองอากาศด้วยน้ำสบู่ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ด้วยการฉีดน้ำแรง ๆ ไปยังด้านหลังและด้านที่ไม่ได้รับฝุ่น เพื่อชะล้างฝุ่นและสิ่งสกปรกหลุดออก
- ล้างแอร์แบบเต็มระบบทุก ๆ 6 เดือน หรือ ปีละ 1 ครั้ง เป็นอย่างน้อย เพื่อลดการสะสมของเชื้อโรคในเครื่องและท่อแอร์ ลดการทำงานหนักของแอร์ ช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้า แถมยังเซฟค่าไฟได้อีกด้วย

วิธีการล้างแอร์แบบระบบรวม
ควรทำความสะอาดหอหล่อเย็นอย่างน้อยเดือนละ 1-2 ครั้ง โดยเปิดน้ำทิ้งจากห้องหล่อเย็นให้แห้ง จากนั้นทำความสะอาดด้วยการขัดถูคราบสกปรกและตะกอนออกให้หมด เติมน้ำยาฆ่าเชื้อรา เพื่อกำจัดเชื้อราและไม่ให้ตะไคร่เกาะ และใส่คลอรีนความเข้มข้น 10 ppm ในท่อให้ทั่วถึงและปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 3-6 ชั่วโมง เพื่อฆ่าเชื้อโรค จากนั้นจึงให้คลอรีนมีความเข้มข้นไม่น้อยกว่า 0.2 ppm และควรทำความสะอาดถาดรองน้ำที่หยดจากท่อคอยส์เย็น ทุก ๆ 2 สัปดาห์ เพื่อป้องกันไม่ให้ตะไคร่เกาะ
อากาศร้อนจนผิวแทบละลายขนาดนี้ ยังไงทางเลือกก็คงไม่พ้น เครื่องปรับอากาศ แต่เพื่อไม่ให้ร่างกายเจ็บป่วยด้วยโรค (แฝง) ที่มากับแอร์ ก็ต้องไม่ลืมทำความสะอาดอยู่เสมอ