บนสวรรค์ไม่มีธนาคาร ทุกคนเกิดมากับความว่างเปล่า และสุดท้ายก็จากไปมือเปล่าเช่นกัน
การบริจาคขึ้นอยู่กับความพึงใจ ผู้บริจาคคือคนที่ตัดสินใจจะทำหรือไม่ทำ ทำอย่างไร ทำเท่าไร ทำด้วยวิธีไหน ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจและจริตของคนนั้น คนที่ชอบตัดสินการกระทำของคนอื่น ต้องย้อนกลับไปมองการกระทำของตนเอง ว่าใช่หน้าที่ของตนหรือไม่ เพราะผู้บริจาคย่อมเข้าใจจุดมุ่งหมายและกำลังของตนได้ดีกว่าคนอื่น เช่นเดียวกับ ชาลส์ ฟรานซิส ฟีนีย์ หรือ “ชัค ฟีนีย์” เศรษฐีผู้บริจาคทรัพย์สินเพื่อการกุศลถึง 2 แสนกว่าล้านบาทจนหมดตัว!
ชัค ฟีนีย์ (Chuck Feeney) เศรษฐีอเมริกันเชื้อสายไอริช จากเมืองเฟอร์มานาก์ ซึ่งร่ำรวยจากการทำธุรกิจร้านค้าปลอดภาษี Duty Free Shoppers (DFS) และได้ก่อตั้งองค์การกุศล The Atlantic Philanthropies เมื่อปี 1982 ซึ่งเป็นมูลนิธิส่วนบุคคลที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยเขาได้บริจาคเงินให้กับมูลนิธิและการกุศลมากมายด้วยเงินที่เขาหามาทั้งชีวิตจำนวน 8,000 ล้านเหรียญ หรือ เป็นเงินไทยประมาณ 258,000 ล้านบาท ด้วยจุดมุ่งหมายที่ต้องการจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ในทางดีขึ้นด้วยตาของเขาในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่
คำพูดติดปากของฟีนีย์ที่มักจะพูดกับคนรอบข้างอยู่เสมอ
“ความมั่งคั่งนำพามาซึ่งความรับผิดชอบ พวกคนรวยทั้งหลายควรมีความสำนึกและรับผิดชอบในการใช้ทรัพย์สินเงินทองของตัวเองออกมาช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของเพื่อนร่วมโลก หรือไม่ก็ช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ บนโลกนี้เพื่อคนรุ่นใหม่ในอนาคต”
เมื่อครั้งที่ฟีนีย์อยู่ในวัยหนุ่ม เขาได้ร่วมรับใช้ชาติด้วยการไปเป็นทหารอากาศสหรัฐฯ โดยเข้าร่วมรบในสงครามเกาหลี โดยทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่วิทยุสื่อสาร จุดนี้เองที่ทำให้เขาเห็นช่องทางในการทำธุรกิจ ด้วยการส่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากสหรัฐฯ ไปขายแบบปลอดภาษีให้กับทหารอเมริกันที่ประจำการอยู่ในยุโรป ก่อนจะขยายเป็นร้านค้าปลอดภาษี DFS จนกลายเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง สร้างรายได้ให้กับฟีนีย์เป็นกอบเป็นกำ และทำให้ โรเบิร์ต วาร์เรน มิลเลอร์ (Robert Warren Miller) หุ้นส่วนของฟีนีย์ กลายเป็นเศรษฐีติดอันดับโลก โดยมีทรัพย์สินมูลค่ากว่า 180,000 ล้านบาท และมีบ้านพักหรูทั้งในนิวยอร์ก ปารีส สวิตเซอร์แลนด์ และฮ่องกง ในขณะที่ฟีนีย์กลับนำเงินจากธุรกิจนำไปก่อตั้งมูลนิธิ The Atlantic Philanthropies อย่างลับ ๆ โดยไม่ได้ไม่มีใครรู้ว่าเขาคือผู้อยู่เบื้องหลังและเป็นเจ้าของเงินบริจาคก้อนโต
เป็นระยะเวลากว่า 40 ปี ที่มูลนิธิ The Atlantic Philanthropies ได้บริจาคเงินของฟีนีย์กว่า 2 แสนล้านบาทให้กับการกุศลมากมาย โดยยอดเงินกว่า114,000 ล้านบาท ช่วยเหลือด้านการศึกษาในที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยคอร์แนล ซึ่งฟีนีย์เคยเป็นศิษย์เก่าที่ได้รับทุนการศึกษาฟรีหลังรับใช้ชาติในสงครามเกาหลี ได้รับเงินบริจาคเป็นเงินจำนวน 30,000 ล้านบาท นอกจากนี้ทางองค์กรได้บริจาคเงิน 27,000 ล้านบาทในด้านสิทธิมนุษยชนและการเคลื่อนไหวทางสังคม รวมทั้งการบริจาคเพื่อพัฒนาระบบสาธารณสุขในประเทศเวียดนาม และอื่น ๆ อีกมากมาย
ฟีนีย์เคยกล่าวว่า “ผมรู้สึกเห็นใจคนที่มีชีวิตยากไร้เสมอ แล้วโลกใบนี้ก็เต็มไปด้วยคนที่ไม่มีอันจะกิน” การที่เขามีทัศนคติเช่นนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการได้รับอิทธิพลจากประโยคหนึ่งในหนังสือ The Gospel of Wealth ได้กล่าวไว้ว่า “มหาเศรษฐีควรเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ให้กับคนจน” ซึ่งเขียนโดย แอนดรูว์ คาร์เนกี (Andrew Carnegie) และยังจุดประกายให้เขาเลือกที่จะใช้ชีวิตอย่างสมถะ ไม่มีบ้าน ไม่มีรถ แต่เลือกที่จะเช่าบ้านอยู่แบบเรียบง่าย และทุกครั้งที่ต้องเดินทางโดยเครื่องบิน เขาเลือกที่จะโดยสารชั้นประหยัดเสมอ ในขณะที่สมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัวนั่งชั้นธุรกิจแม้จะไปด้วยเครื่องบินลำเดียวกันก็ตาม
มูลนิธิ The Atlantic Philanthropies เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนต้องมีการขยายสำนักงานกระจายไปกว่า 10 สาขาทั่วโลก โดยมีพนักงานกว่า 300 คน ทำงานด้านการกุศลโดยเฉพาะ และอาจมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยมี คริสโตเฟอร์ เอชสลี (Christopher Oechsli) เป็นประธานบริหารองค์กร และทำงานให้กับฟีนีย์มากว่า 30 ปี จึงเป็นพนักงานที่รู้จักฟีนีย์ผู้เป็นเจ้านายดีกว่าใคร ๆ
คริสโตเฟอร์เล่าว่า ฟีนีย์ผู้เป็นเจ้านายของเขาไม่เคยยัดเยียด หรือพยายามให้พนักงานของเขาคิดตามแบบเขา แต่จะปล่อยอิสระในด้านความคิดของพนักงานอย่างเต็มที่ แต่ฟีนีย์มักจะพูดกับพนักงานเสมอว่า “คนเราจะต้องมีเรือยอร์ชสักกี่ลำ ต้องใช้รองเท้าสักกี่คู่ถึงจะพอ ของที่ใช้อวดร่ำอวดรวยพวกนี้จะมีประโยชน์อะไร ลองย้อนกลับมามองตัวเองสิ จะพบแต่ความอยากได้อยากมีแบบไม่สิ้นสุด” และฟีนีย์เองก็เคยลองใช้ชีวิตแบบคนรวยแล้ว มีบ้านหรู ใช้แต่ข้าวของแพง ๆ แต่เขาพบว่านั่นไม่ใช่วิถีชีวิตของเขา ฟีนีย์จึงกลับมาใช้ชีวิตสมถะ ไม่ประดับประดาด้วยเสื้อผ้าแบรนด์เนม มีเพียงแค่แว่นตาเก่า ๆ และ นาฬิกาคาสิโอเรือนละ 10 เหรียญเพื่อใช้บอกเวลา ไม่ใช่เพื่ออวดฐานะ หอบหิ้วเอกสารไปทำงานด้วยถุงพลาสติกแทนกระเป๋าหรู และเช่าอพาร์เมนท์ห้องเล็ก ๆ ในซานฟรานซิสโก เพื่ออาศัยอยู่กับ เฮลกา (ภรรยาคนที่ 2 หลังจากที่หย่าขาดกับ แดเนียล ภรรยาคนแรก ในปี 1993) และสิ่งเหล่านี้คือตัวตนของชายที่ชื่อ ฟีนีย์ ผู้เป็นเจ้านายของคริสโตเฟอร์
จนกระทั่ง ฟีนีย์มีอายุ 89 ปี ร่างกายเริ่มไม่แข็งแรงไปตามวัยชรา เขาได้ตัดสินใจลงนามในเอกสารปิดมูลนิธิ หลังจากที่เขาไม่เหลือเงินมากพอที่จะบริจาคอีกต่อไป และมันก็เป็นไปตามเจตจำนงของเขาตั้งแต่แรก เขาต้องการเห็นผลงานจากการทุ่มบริจาคเงินของเขาด้วยตาเขาเอง เพื่อให้มั่นใจว่าเงินของเขาทุกบาททุกสตางค์ที่หามาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของเขาทั้งหมด จะสร้างคุณประโยชน์ให้กับเพื่อนมนุษย์ และมีส่วนช่วยในการพัฒนาให้โลกใบนี้ดีขึ้นในขณะที่เขายังมีชีวิตอยู่ และเขาจะไม่รู้เลยว่าเงินของเขาจะไปตกอยู่ในมือใคร เป็นประโยชน์แก่ใครได้บ้าง หากเขาบริจาคเงินหลังจากที่เขาตายไปแล้ว จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ฟีนีย์ยุติการบริจาค เพราะถึงเป้าหมายตามเจตจำนงดั้งเดิม
ชัค ฟีนีย์ เศรษฐีผู้เป็นฮีโร่ในโลกแห่งความจริง
ฟีนีย์เคยชักชวน เจฟฟ์ เบซอส (Jeff Bezos) ผู้ก่อตั้ง Amazon และเป็นเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลก ให้ลองบริจาคสินทรัพย์ที่ตนมีเพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นและพัฒนาโลกใบนี้ให้ดีขึ้น โดยเขาได้กล่าวกับเจฟฟ์ว่า “ ลองเลือกปัญหาระดับโลกที่คุณสนใจสักเรื่อง แล้วลงเงินของคุณไปกับมัน และจัดการมันด้วยตัวคุณดู”
นอกจากนี้ ฟีนีย์ยังได้เขียนจดหมายส่งไปยังเศรษฐีทั่วโลก เพื่อแนะนำให้บรรดาเศรษฐีบริจาคเงินในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่ แทนที่จะบริจาคเงินให้แก่การกุศลหลังจากที่พวกเขาจากโลกไปแล้ว โดยแนบท้ายด้วยประโยคเด็ดของเขาเสมอ “หากใครได้ลองทำแล้วจะชอบเหมือนเขา”
แม้ว่าฟีนีย์จะบริจาคเงินให้กับการกุศลมากมาย จนสุดท้ายในชีวิตของเขาแทบไม่เหลืออะไรเลย แต่สิ่งเหล่านั้นกลับเป็นแรงบันดาลใจให้กับมหาเศรษฐีหลายคน รวมไปถึง บิล เกตต์ และ วอร์เรนต์ บัฟเฟต์ จนทำให้พวกเขาร่วมกันก่อตั้งโครงการกุศล The Giving Pledge ที่มีมหาเศรษฐีทั่วโลกเข้าร่วม โดยบริจาคทรัพย์สินอย่างน้อยครึ่งหนึ่งเพื่อการกุศล หรือมากกว่านั้นก็ทำได้เช่นกัน
วอร์เรนต์ บัฟเฟตต์ ได้ยกย่องให้ ฟีนีย์ เป็นฮีโร่ของเขา และยังบอกอีกว่า แม้แต่ บิล เกตต์ ก็ให้ฟีนีย์เป็นฮีโร่และเป็นบุคคลตัวอย่างที่พวกเขาจะนำมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต และยังมีเศรษฐีหลายคนที่มองว่าฟีนีย์คือบุคคลที่ควรเอาเป็นแบบอย่าง และ สรรเสริญให้ “ชัค ฟีนีย์” คือ ฮีโร่ของทุกคนในโลกแห่งความจริง