งูก้นขบ ผู้ถูกเข้าใจว่าเป็นงูพิษ จนเกือบสูญพันธุ์ 

งูก้นขบผู้น่าสงสาร ถูกคนเข้าใจว่าเป็นงูพิษ ทำให้ถูกฆ่าตายจนแทบสูญพันธ์ุ บางคนเข้าใจว่างูก้นกบมีสองหัว หรือ หางของงูก้นกบสามารถต่อยให้ศัตรูบาดเจ็บได้ วันนี้เราจะมาชวนทำความรู้จัก งูก้นขบ งูที่น่าสงสารที่ว่านี้กันค่ะ 

งูก้นขบ คือ งูชนิดที่ไม่มีพิษ มีความยาวประมาณ 1 เมตร มักจะพบในประเทศไทย กัมพูชา พม่า ลาว ทางตอนใต้ของจีน อินเดียตะวันออก และ อินโดนีเซีย ชอบอาศัยอยู่ในที่ชื้น หรือใกล้แหล่งน้ำ โดยเฉพาะบริเวณน้ำตื่น โดยงูก้นขบลักษณะภายนอกคล้ายปลาไหล ลำตัวทรงกระบอก หางป้อมสั้น ปลายปากมน หัวด้านหน้าแบนเรียว ตาเล็ก ม่านตากลม รอบตัวมีเกล็ดลำตัวเรียบ 19 – 21 แถว โดยลำตัวด้านบนมีสีม่วงเข้มถึงดำ ท้องดำ มีแถบสีขาวหรือสีครีมพาด แต่บางตัวก็มีเกล็ดสีดำล้วนเป็นเงาสวย ใต้หางมีสีแดงส้ม หรืออาจมีแถบสีแดงพาดขวางคอ ตัวผู้มีเดือย 1 คู่ โผล่พ้นเกล็ดทวาร เมื่อทำให้ตกใจจะชูส่วนหางขึ้นและทำให้แบนส่วนสีแดง ๆ เพื่อขู่ศัตรูให้ตกใจกลัว ทำให้หลายคนที่ไม่รู้จักงูชนิดนี้หลงเข้าใจว่าเป็นงูพิษกำลังแผ่แม่เบี้ย และถูกทำร้ายหรือตีจนตายในที่สุด 

ภาพจาก Cylindrophis ruffus © Giuseppe Mazza

งูก้นขบ (Cylindrophis Rufus) เป็นงูที่กินหนอน หนู ปลา ปลาไหล ลูกปลาไหล กบ เขียด ปาด อึ่งอ่าง คางคก ลูกพังพอน ตัวอ่อนของแมลง และ งูตัวเล็ก ๆ เช่น ลูกงูแมวเซา เป็นอาหาร นอกจากนี้งูก้นขบยังกินเนื้อสัตว์อื่น เช่น เนื้อไก่ เป็นต้น ส่วนการแพร่พันธุ์ของงูก้นขบออกลูกเป็นตัว โดยไข่จะฟักในท้องแม่งู จากนั้นจึงออกมาเป็นตัว ซึ่งเราสามารถพบการแพร่พันธุ์แบบนี้ได้ในงูโบอาที่อาศัยอยู่ในทวีปอเมริกาได้เช่นกัน การออกลูกของงูก้นขบในแต่ละครั้งประมาณ 8 – 15 ตัว หรือ อาจมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของพื้นที่อาศัยของงูก้นขบ 

งูก้นขบมีวิถีชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์มาก ๆ เลื้อยช้า ไม่ฉก ไม่กัด ถูกจัดอันดับให้เป็นงูนิสัยดี สามารถจับได้ แต่เมื่อโดนจับต้องตัว มันจะแกล้งตายเพื่อหลอกให้ศัตรูตายใจ และเมื่อค่อย ๆเลื้อยหนีไปเมื่อถูกปล่อยตัว หรือจนกว่าจะแน่ในว่าพ้นสายตาศัตรูแล้ว แต่ถึงแม้ว่างูก้นขบเป็นงูไม่มีพิษ และไม่เป็นอันตรายต่อคน แต่งูก้นขบเป็นงูที่กินงูด้วยกันเป็นอาหาร และยังสามารถกินงูพิษบางชนิดได้ด้วย เรียกได้ว่า งูก้นขบเป็นงูช่วยลดประชากรงูพิษอย่างแท้จริง ดังนั้น หากใครที่พบเห็นงูที่ไหน ลองสังเกตให้ดี ๆ ก่อนจะทำร้ายหรือตีงูตาย เพราะอาจเป็นงูก้นขบ หากมั่นใจว่าเป็นงูก้นขบอาจทำการจับไปปล่อยในที่บริเวณห่างไกลจากคน เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกทำร้ายจากความเข้าใจผิดว่าเป็นงูพิษ หรือถ้าไม่กล้าหรือไม่มั่นใจว่าใช่งูก้นขบหรือไม่ ควรเรียกหน่วยกู้ภัย หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการจับงู เพื่อความปลอดภัยแก่ตัวเราเองและตัวงูด้วยเช่นกัน ปล่อยให้งูก้นขบอยู่ทำหน้าที่ลดประชากรงูพิษต่อไปดีกว่า เพราะธรรมชาติได้สร้างสรรค์มาอย่างดีแล้ว