เมื่อราชกิจจานุเบกษาประกาศให้ โรคโควิด-19 ลดระดับจาก “โรคติดต่ออันตราย” สู่ “โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง” และมีผลบังคับใช้ วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของโรคในปัจจุบัน ส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องมีการปรับการทำงานให้เหมาะสมตามประกาศนี้ด้วยเช่นกัน
แล้วประชาชนทั่วไปอย่างเราๆ จะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย เพื่อป้องกันไม่ให้โรคโควิด-19 ย้อนกลับมาระบาดอีกรอบ
1. ติดเชื้อ : ยังต้องแยกตัวจากผู้อื่น
ผลจากการวิจัยทางการแพทย์ของสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ได้มีการยืนยันแล้วว่า หลังจากที่ได้รับเชื้อและต่อให้มีการกักตัวก็ยังมีโอกาสแพร่เชื้อ ดังนี้
- 5 วัน โอกาสแพร่เชื้อ 50-70%
- 7 วัน โอกาสแพร่เชื้อ 25-30%
- 10 วัน โอกาสแพร่เชื้อ 10%
- 14 วัน โอกาสแพร่เชื้อน้อยมาก และอยู่ในระยะปลอดภัย
แต่ถ้าหากไม่มีการแยกตัวเลย ไม่ว่าจะ มีอาการ , มีอาการน้อย หรือ ไม่มีอาการ ก็ตาม ย่อมเสี่ยงในการแพร่เชื้อแก่ผู้อื่นเป็นอย่างมาก และต่อให้สวมหน้ากากอนามัยป้องกัน ก็ป้องกันได้เพียงบางส่วน ไม่ได้ป้องกัน 100% โดยเฉพาะสถานที่รวมชุมชน มีคนอาศัยอยู่จำนวนมาก สถานที่ปิดอย่างในอาคารที่ไม่มีการระบายอากาศ สถานบริการ และสถานที่มีความเสี่ยงสูง เช่น โรงพยาบาล สถานที่ดูแลเด็กหรือผู้สูงอายุ เป็นต้น ยิ่งสถานที่มีคนจำนวนมากเท่าไรก็ยิ่งมีความเสี่ยงสูง จนอาจนำไปสู่ความสูญเสียได้มากเช่นกัน
การตรวจคัดกรองคนไข้ในสถานพยาบาลต่าง ๆ ยังคงมีความสำคัญ เพราะหากติดเชื้อแล้วยังคงมีโอกาสแพร่เชื้อได้สูง และยังทำให้โรคร่วมที่มีอยู่แล้วแย่ลงจนนำไปสู่ความสูญเสียเช่นเดียวกับสิงคโปร์ได้ ดังนั้นสถานที่อาคารและสำนักงานทุกแห่งควรมีการวางแผนการทำงาน ปรับสภาพแวดล้อมในที่ทำงานให้มีการระบายอากาศ ระมัดระวังในการรับประทานอาหารร่วมกัน การสวมหน้ากากที่ถูกต้องสม่ำเสมอ และจัดสรรในการแยกตัวจากคนอื่น 7-14 วัน หรือจนกว่าจะไม่มีอาการและจะต้องตรวจ ATK ซ้ำ และกลับมาทำงานได้หลังจากได้ ผลลบ และจะต้องสวมหน้ากากตลอดเวลาแม้ว่าจะหายจากโควิดอาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ เพื่อป้องกันความปลอดภัยต่อบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงานหรือลูกค้า
2. เตรียมความพร้อมในการรับมืออยู่เสมอ
ติดตามข้อมูลสถานการณ์โรคระบาดทั่วโลก และอัพเดตความรู้เรื่องของยา วัคซีน และการป้องกัน จากแหล่งความรู้ที่น่าเชื่อถือและสามารถตรวจสอบได้ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ได้ทันท่วงที
3. ผู้ที่เคยติดเชื้อและเป็นผู้ป่วยโควิด
ป้องกันตนเองจากการติดเชื้อซ้ำ หมั่นประเมินสุขภาพของตนอย่างสม่ำเสมอและป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อซ้ำ เพราะคนที่เคยป่วยมาแล้วไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีโอกาสติดเชื้ออีก และหากมีอาการลองโควิด (Long Covid) ควรตรวจวินิจฉัยและปรึกษาแพทย์เพื่อการดูแลรักษาตนอย่างถูกวิธี และเพื่อป้องกันตนเองแพร่เชื้อแก่ผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว
4. ไม่ประมาท
ป้องกันตนเองอย่างสม่ำเสมอให้เป็นกิจวัตร สวมหน้ากากเมื่อต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่น ล้างมือเมื่อหยิบจับของสาธารณะ เว้นระยะห่าง พกเจลแอลกอฮอล์ ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าในขณะนี้จะเป็นขาลงของโรคโควิด-19 จนถูกลดสถานะเป็นเพียงแค่โรคเฝ้าระวัง แต่ไม่ได้หมายความว่าสิ้นสุดถาวร เพราะโรคโควิดยังอยู่ ไม่ได้หายไปไหน และมีโอกาสที่จะกลับมาระบาดได้อีกทุกเมื่อ ดูได้จากการระบาดในแต่ละรอบที่ผ่านมา ล้วนแต่เกิดจากความประมาทและหย่อนต่อความระมัดระวัง ทำให้โรคกลับมาปะทุซ้ำ จนสร้างความเสียหายให้กลายเป็นบทเรียนราคาแพงมาแล้ว