ฝีดาษลิง : รู้ทันโรค และ วิธีรับมือ

การระบาดโรคโควิด-19 ยังไม่ทันหายไปจากโลกนี้ แม้ว่าสถานการณ์จะดีขึ้น แต่ก็ยังมียอดติดเชื้อทั่วโลก แม้แต่ในประเทศไทยเองก็ยังมีผู้ติดเชื้ออยู่ทุกวัน โดยเฉพาะยังคงระบาดหนักในเกาหลีเหนือและใต้หวัน ที่ยังคงไม่สู้ดีนัก ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก เสียแล้ว เมื่อม่โรคระบาดใหม่ปรากฏขึ้นมา จนสร้างความวิตกกังวล และเป็นที่จับตามองของนักวิทยาศาสตร์ และนักการแพทย์ รวมถึงองค์การอนามัยโลก WHO เนื่องจากมีการระบาดไปแล้วกว่า 15 ประเทศในยุโรป และทวีปอเมริกาเหนือ ในขณะนี้ นั่นก็คือ “โรคฝีดาษลิง”

โรคฝีดาษลิง ภาษาอังกฤษ Monkeypox  เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มพอกซ์วิริเด (Poxviridae) จัดอยู่ในจีนัสไวรัสออร์โธพอกซ์ (Orthopoxvirus) โดยเชื้อไวรัสฝีดาษลิงมีความใกล้เคียงกับไวรัสที่ทำให้เกิดโรคฝีดาษคน (smallpox) หรือไข้ทรพิษ ส่วนใหญ่จะพบในพื้นที่ใกล้ป่าดิบชื้น ทวีปแอฟริกากลาง และแอฟริกาตะวันตก ทำให้มีสองสายพันธุ์หลัก คือ แอฟริกากลาง และ แอฟริกาตะวันตก โดยคนติดเชื้อจากสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระต่าย กระรอก หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น ลิง เป็นต้น แต่มีโอกาสน้อยมากที่เชื้อจะแพร่จากคนสู่คน

โรคฝีดาษลิงเป็นโรคประจำท้องถิ่นที่มีการระบาดทุกปี ซึ่งไม่ได้เกิดปัญหามากมายนัก แต่ครั้งนี้ได้มีการลามไปหลายประเทศในยุโรปและอเมริกา ทำให้เกิดความตื่นตระหนก และถูกเฝ้าจับตามอง เพราะเป็นการระบาดของโรคแบบข้ามทวีป และพบผู้ติดเชื้อไปแล้วกว่า 100 ราย ตามประเทศต่างๆ ถึง 15 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ อเมริกา สเปน โปรตุเกส สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี ออสเตรเลีย ออสเตรีย อิสราเอล เบลเยี่ยม อิตาลี เนเธอร์แลนด์ และในประเทศที่มีการระบาดอยู่แล้ว

ยังไม่พบผู้ติดเชื้อหรือการระบาดในประเทศไทย แต่ก็ไม่ได้ความว่าจะไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เนื่องจากตอนนี้สถานการณ์ Covid-19 ดีขึ้น มีการเดินทางระหว่างประเทศมากขึ้น จึงนับว่ามีความเสี่ยงอยู่เช่นกัน จึงต้องคอยเฝ้าระวัง เพราะหากมีการระบาดของโรคฝีดาษลิงเป็นวงกว้าง เชื่อว่าจะยิ่งส่งผลให้โรคโควิด-19 รุนแรงขึ้น เพราะถึงแม้โรคฝีดาษลิงจะมีอัตราการระบาดต่ำ แต่สามารถติดเชื้อได้จากการสัมผัสและทางระบบหายใจ เพราะเป็นเชื้อไวรัส และสิ่งที่สร้างความตระหนกให้ผู้คน และระแวงถึงความเสี่ยง เนื่องจากโรคนี้เมื่อเป็นแล้ว จะเกิดตุ่มหนองตามใบหน้า มือ และลำตัว อีกทั้งยังทิ้งรอยแผลเป็นที่อาจรักษาให้หายขาดไม่ได้ 100% และตอนนี้ยังไม่มียารักษาโรค หรือวัคซีนโรคฝีดาษลิงเฉพาะ มีเพียงวัคซีนไข้ทรพิษ ที่จะต้องนำมาใช้ก่อน เพราะวงการแพทย์เห็นว่ามีประสิทธิภาพสูงถึง 85% และเป็นไปได้ว่า ผู้ที่เคยมีการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษมาก่อนหน้านี้ อาจมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคนี้ได้ และแม้ว่าจะไม่มีวิธีรักษา แต่สามารถควบคุมการระบาดได้ด้วยการป้องกันการติดเชื้อ 

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขของไทย ได้มีการระบุถึงอาการของโรคฝีดาษลิง ว่ามีความรุนแรงน้อยกว่าโรคฝีดาษคน หรือ smallpox  แต่ก็ประมาทไม่ได้ เพราะโรคนี้สามารถทำให้เสียชีวิตได้เช่นกันในผู้ป่วยบางราย และการติดเชื้อเกิดขึ้นได้ทั้งสัตว์ป่า สัตว์เลี้ยง และคน และแม้ว่าจะมีนักวิชาการบางกลุ่มออกมาชี้ว่า ไม่มีการแพร่กระจายจากคนสู่คน ในขณะที่ประเทศอังกฤษพบการระบาดฝีดาษลิงในกลุ่มชายรักชายเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่อาจสรุปได้ว่า สาเหตุหลักเกิดจากการกิจกรรมทางเพศระหว่างชาย-ชาย หรือไม่ แต่เชื้อโรคสามารถส่งต่อ โดยการสัมผัสกันโดยตรงระหว่างการมีเพศสัมพันธ์

 

อาการโรคฝีดาษและระยะเวลาอาการป่วย

ผู้ป่วยจะมีอาการของโรคที่แสดงให้เห็น หลังจากได้รับเชื้อประมาณ 12 วัน โดยจะมีอาการเบื้องต้นหลายอย่าง และรวมไปถึงอาการต่อไปนี้ด้วย

  • หนาวสั่น
  • ปวดหัว
  • เจ็บคอ
  • มีไข้
  • บวม
  • ปวดหลัง
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • ต่อมน้ำเหลืองโต
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
  • เซื่องซึม

หลังจากที่ไข้ทุเลา จะเริ่มมีผื่นขึ้นตามใบหน้า และลามไปยังบริเวณอื่นในร่างกาย มือ ลำตัว ฝ่าเท้า โดยจะมีอาการคัน และระคายเคืองตามรอยผื่นอย่างรุนแรง อาจมีการเปลี่ยนแปลงหลายขั้นตอน ก่อนจะเปลี่ยนเป็นตุ่มหนอง และเกิดการตกสะเก็ด โดยอาจเกิดรอยแผลเป็นทิ้งไว้ให้ดูต่างหน้า โดยอาการป่วยอาจใช้เวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ หลังจากนั้นผู้ป่วยจะหายจากโรคได้เอง

เชื้อฝีดาษลิงติดต่อกันอย่างไร

คนจะติดเชื้อจากการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่ง เลือด ตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ โดนสัตว์ที่มีเชื้อกัด หรือกินเนื้อสัตว์มีเชื้อที่ยังสุกไม่พอ การสัมผัสวัตถุที่มีการปนเปื้อนของเชื้อไวรัส เช่น ผ้าปูที่นอน เสื้อผ้า ของใช้ต่างๆ และยังสามารถติดต่อกันได้จากการเข้าใกล้ผู้ติดเชื้อ โดยไวรัสจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางระบบหายใจ จมูก หรือทางปาก ทางตา หรือแม้แต่รอยแตกบนผิวหนัง และรอยบาดแผล 

โรคฝีดาษลิงอันตรายแค่ไหน

ผู้ติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิงส่วนใหญ่ไม่มีอาการรุนแรง บางครั้งอาการคล้ายกับกับโรคอีสุกอีใส (Chickenpox) และสามารถหายได้เองภายในไม่กี่สัปดาห์ แต่ก็มีอาการรุนแรงในผู้ป่วยบางราย และมีผู้เสียชีวิตจากโรคฝีดาษลิงหลายคนในแอฟริกาตะวันตก โดยมีอัตราการเสียชีวิตสูงสุดคือ กลุ่มเด็กเล็ก ที่มีมากถึง 10% ด้วยกัน แต่ไม่ว่าจะมีอัตราการติดเชื้อต่ำ หรืออาการโรคไม่รุนแรง แต่ก็ยังคงเป็นที่จับตามอง และเฝ้าระวังจากผู้เชี่ยวชาญทางแพทย์ และนักวิทยาศาสตร์

อัตราการระบาดของโรคฝีดาษลิง

เชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคฝีดาษลิง ถูกพบครั้งแรกในลิงที่ถูกขังไว้ ในปี 1970 และมีการระบาดเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ใน 10 ประเทศของทวีปแอฟริกา และได้พบการระบาดของเชื้อไวรัสชนิดนี้นอกทวีปแอฟริกาครั้งแรก เมื่อปี 2003 โดยพบในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งผู้ป่วยติดเชื้อมาจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กหลายชนิด ที่มีการนำเข้ามาในสหรัฐฯ แม้ว่าในครั้งนั้นจะพบผู้ป่วยติดเชื้อ มีจำนวนด้วยกัน 81 ราย แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต จนกระทั่งปี 2017 ได้มีการพบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษ และมีการระบาดของเชื้อนี้ ที่ประเทศไนจีเรีย โดยมีผู้สงสัยติดเชื้อประมาณ 172 ราย โดย 75% เป็นผู้ชายที่มีอายุระหว่าง 21-40 ปี

วิธีรักษาโรคฝีดาษลิง

ยังไม่มีวิธีการรักษาโรคฝีดาษลิง และวัคซีนสำหรับโรคนี้ด้วยเฉพาะ แต่ป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ โดยขณะนี้อาจต้องใช้วัคซีนฝีดาษคน ที่มีแนวโน้มให้ผลการป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ 85%

ประเทศไทยแม้ว่าจะยังไม่พบผู้ป่วย หรือมีการระบาด แต่หลังจากที่มีการเปิดให้เดินทางระหว่างประเทศมากขึ้น มีความเสี่ยงที่ผู้เดินทางมาจากประเทศในทวีปแอฟริกากลาง หรือแอฟริกาตะวันตก รวมถึงประเทศที่มีการระบาดของโรคขณะนี้ ซึ่งมีข้อมูลจากกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค กรมควบคุมโรค ได้ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1-22 พ.ค. มีผู้เดินทางที่ลงทะเบียน จากประเทศที่มีความเสี่ยงสูง จากสหราชอาณาจักร โปรตุเกส และสเปน รวมแล้วอยู่ในหลักหมื่นกว่าคน

กรมควบคุมโรค ได้มีการแจ้งเตือนให้ประชาชนได้ติดตามข่าวสาร และสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึงต้องมีการระมัดระวัง หากต้องเดินทางไปยังประเทศที่พบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง และป้องกันตนเอง ด้วยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์พาหะ สัตว์ตระกูลฟันแทะ เช่น หนู กระรอก กระต่าย และสัตว์ตระกุลไพรเมต เช่น ลิง หากมีการใกล้ชิด หรือสัมผัสสัตว์เหล่านี้ ให้รีบล้างมือด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์ แม้ว่าจะยังไม่พบการระบาดในประเทศไทยก็ตาม แต่ก็ไม่ควรประมาท และหลังจากเดินทางกลับมาจากประเทศที่มีการระบาดของโรคฝีดาษลิง ให้สังเกตอาการของตนเอง หากมีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ มีตุ่มผื่นแดงขึ้นตามใบหน้า มือ แขน และขา หรือบริเวณใดในร่างกาย ให้รีบพบแพทย์ และแจ้งประวัติการเดินทาง และระหว่างนั้นจะต้องทำการแยกของใช้ส่วนตัวทุกชนิด ไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น หรือแม้แต่สมาชิกในบ้าน หมั่นล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า จมูก ปาก และกินอาหารปรุงสุกเสมอ

การให้ความสนใจ ศึกษาหาข้อมูล เพื่อให้รู้เท่าทัน หาวิธีรับมือ และการป้องกัน ย่อมดีกว่าการประมาท และเกิดการสูญเสีย จนสายเกินจะแก้ไขทัน .. ดังนั้น ควรตื่นตัว แต่อย่าตื่นตูม