มวยไทย มีชื่อเสียงโด่งดังไกลไปทั่วโลก หลายประเทศให้ความสนใจในกีฬามวยไทย และจัดการแข่งขันชกมวยไทยในรูปแบบสากลกันมากขึ้น ท่าชกมวยไทยปัจจุบัน มีพื้นฐานมาจากอาวุธในร่างกายของคนเราทั้งหมด ได้แก่ มือ เท้า เข่า ศอก และ ศีรษะ ล้วนแต่ใช้เป็นอาวุธป้องกันตัวและทำร้ายคู่ต่อสู้ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาอุปกรณ์รอบกาย
กระบวนท่ามวยไทยดั้งเดิม ได้มีการพัฒนาไปตามความถนัดของแต่ละท้องถิ่น จนแตกแยกย่อยกลายเป็นร้อย ๆ กระบวนท่า โดยมวยคาดเชือกโบราณได้มีการเปรียบเปรยมวยตามแต่ละพื้นที่ ดังนี้ “หมัดหนักโคราช ฉลาดลพบุรี ท่าดีไชยา ไวกว่าท่าเสา ครบเครื่องพลศึกษา”

มวยโคราช
เป็นมวยคาดเชือกที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตน มีการแต่งกาย มีการจดมวย มีการร่ายรำ รวมไปถึงรูปแบบการชกที่ไม่เหมือนใคร โดยเฉพาะ “หมัดเหวี่ยงควาย” ซึ่งเป็นหมัดที่หนักหน่วงและชกเป็นวงกว้าง

มวยลพบุรี
ที่ได้รับการเปรียบว่า มวยลพบุรี เป็นมวยฉลาด เพราะมีทักษะในการเข้าหาคู่ต่อสู้ มีกลยุทธ์มากมาย ทั้งรุกและรับ สารพัดกลลวง ชั้นเชิงการโยกหลบ เคลื่อนไหวตลอดเวลา แต่สามารถปล่อยอาวุธ ทั้งหมัด เข่า เท้า ศอกได้อย่างแม่นยำ ต้องคำนวณตลอดช่วงการต่อสู้

มวยไชยา
มวยท้องถิ่นของอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่มีการนำศิลปะการต่อสู้อินเดีย เจ้าของต้นฉบับดั้งเดิมอย่าง “ทุ่ม ทับ จับ หัก” อยู่ในท่วงท่าของมวยไชยา ที่นอกเหนือจากการใช้ หมัด ศอก เข่า เท้า รวมไปถึงมีการใช้ “ป้อง ปัด ปิด เปิด” ในการป้องกันตัว ต่างจากมวยทั่วไป

มวยท่าเสา
มวยประจำภาคเหนือ ต้นตำรับเมืองอุตรดิตถ์ อีกหนึ่งในสายมวยของพระยาพิชัยดาบหัก เรียกได้ว่าเป็นมวยที่ใช้ปรับการรุก และ รับ ตามสถานการณ์ เรียนรู้จุดอ่อน จุดแข็งของตนเองและคู่ต่อสู้ เพื่อหาวิธีในการรับและรุก เคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็ว ตั้งรับได้ฉับไว และรุกได้รุนแรง

มวยพลศึกษา
เป็นสูตรที่นักมวยมีพื้นฐานเดิมจากมวยสายอื่น ๆ แล้วมาเรียนเพิ่มเติมที่สถาบันพลศึกษา ทำให้มีศาสตร์มวยที่สมบูรณ์และครบเครื่อง ทั้งเคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็ว และออกอาวุธได้อย่างแม่นยำ
เครื่องรางของขลัง มวยไทย
เครื่องรางของขลัง คือ วัตถุมงคลที่มีผลต่อการยึดเหนี่ยวจิตใจของนักมวย และมีความเชื่อว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ช่วยเพิ่มความอึด เพิ่มกำลัง อดทน แข็งแรง อยู่ยงคงกระพัน ป้องกันภัยให้แคลัวคลาด ปลอดภัย โดยเครื่องรางของขลังสำหรับนักมวย คือ มงคลสวมศีรษะ และ ประเจียดผูกแขน ที่มักจะทำมาจากผ้าดิบ และมีเกจิอาจารย์เป็นผู้เขียนมนต์คาถาและทำพิธีกรรม

มงคล
มงคลคือ เครื่องผูกศีรษะที่ใช้สวมให้กับนักมวยก่อนขึ้นชก เป็นของสูงและศักดิ์สิทธิ์ มีความหมายมงคล อันหมายถึง ความมีลาภ มีโชคดี มีความสุข ช่วยคุ้มครอง ปกป้องภัยให้กับผู้สวม เพราะมงคลทำมาจากด้ายหรือผ้าดิบที่มีการลงอักขระ คาถา หัวใจมนตรา อาคม และกำกับด้วยเลขยันต์ ก่อนนำมาถักให้เป็นรูปวงกลมสำหรับสวมศีรษะนักมวย
ประเจียด
ประเจียด คือ เครื่องผูกแขน ทำมาจากเชือกหรือผ้าดิบสีแดงเป็นส่วนใหญ่ กำกับด้วยคาถาอาคม เลขยันต์และอักขระมนตรา จึงถือว่าเป็นของมงคลอีกชิ้นหนึ่งสำหรับนักมวย เพราะเชื่อว่าจะช่วยคุ้มครองภัยให้กับนักมวยที่สวมใส่

การไหว้ครูมวยไทย
การไหว้ครูมวยไทย หมายถึง การทำความเคารพครูอาจารย์ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชา และเป็นความสวัสดิมงคลแก่ผู้ที่จะทำการต่อสู้ อีกทั้งยังเป็นการรวบรวมสมาธิให้จิตใจมั่งคง มีสมาธิในการชก ไม่หวั่นไหวหรือกลัวเกรงคู่ต่อสู้ อีกทั้งการร่ายรำไหว้ครูยังเป็นการยืดเส้นยืดสาย วอร์มร่างกายเตรียมพร้อม ลดการเกร็งของกล้ามเนื้อ ช่วยลดอาการบาดเจ็บของร่างกายขณะทำการชกได้
การไหว้ครูมวยไทย มีกี่ขั้นตอน
การไหว้ครูมวยไทย มี 2 ขั้นตอน ด้วยกัน ได้แก่
1. ขั้นตอนที่ 1 ท่านั่ง มี 3 ท่า คือ ท่าเทพนม ท่าพรหม และ ท่าปฐม
2. ขั้นตอนที่ 2 ท่ายืน และ ร่ายรำ คือ ท่าเทพนิมิต ท่านารายณ์ขว้างจักร ท่านกยูงฟ้อนหาง ท่าพยัคฆ์ด้อมกวาง ท่าดูดัสกร ท่าฟ้อนลองเชิง และ ท่าคุมเชิงครู
ท่าไหว้ครูมวยไทย นับว่าเป็นศิลปะซึ่งเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทยโดยแท้ แม้ว่า มวยไทย จะถูกนำไปเป็นต้นแบบในศิลปะการต่อสู้แบบใหม่ในบางประเทศ แต่ความแตกต่างที่ไม่มีใครเหมือนหรือลอกเลียนแบบได้ คือ ท่าไหว้ครูที่มีความสวยงาม และเป็นวัฒนธรรมที่ควบคู่มากับ “มวยไทย” ที่จะยังคงสืบทอดต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น