กลุ่มฮามาสคือใคร สงครามชาวยิวและอาหรับจะสิ้นสุดเมื่อไร

กลุ่มฮามาสเป็นทั้งพรรคการเมือง และกองกำลังติดอาวุธมุสลิมนิกายซุนนีหัวรุนแรง ได้ก่อตั้งขึ้นในช่วง 1980 เป็นกลุ่มที่มีอำนาจอยู่ในปาเลสไตน์เทียบเคียงกับกลุ่มฟาตาห์ ซึ่งเป็นอีกกลุ่มการเมืองหลักของมุสลิมปาเลสไตน์ แต่มีหลักการประนีประนอมกับอิสราเอลมากกว่า ในขณะที่ฮามาสจะใช้ความรุนแรงโต้ตอบ เพราะวัตถุประสงค์หลักของฮามาส คือ การกำจัดและทำลายล้างอิสราเอลให้หมดสิ้น โดยผ่านการทำสงครามที่มีมานานหลายทษวรรษ 

ภาพจาก https://www.pptvhd36.com/

ฮามาสได้เข้าทำการยึด ฉนวนกาซา เป็นฐานกองกำลังที่มั่นได้สำเร็จในปี 2007 และได้ทำการขับไล่กลุ่มฟาตาห์ออกจากพื้นที่ ทำให้ “ฉนวนกาซา” พื้นที่ตั้งติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งมีพื้นที่เล็กกว่าหลายเท่าเมื่อเทียบกับ “เวสต์แบงค์” ที่เป็นดินแดนควบคู่กันของปาเลสไตน์ โดยดินแดนดังกล่าวมีความยาว 41 กิโลเมตร และกว้าง 6 – 12 กิโลเมตร หรือมีพื้นที่เพียงแค่ 365 ตร.กม. (ซึ่งมีขนาดพื้นที่น้อยกว่า กรุงเทพมหานคร เกือบ 5 เท่า) แต่กลับมีประชากรกว่า 2.3 ล้านคน และความหนาแน่นของประชากร 5,500 คน / ตร.กม. นับว่าเป็นอีกพื้นที่ ๆ มีประชากรหนาแน่นมากที่สุดแห่งหนึ่ง ทำให้ฉนวนกาซาถูกเรียกว่า “เรือนจำเปิดที่ใหญ่ที่สุดในโลก” 

หากย้อนไปที่จุดเริ่มต้นของความขัดแย้งปาเลสไตน์กับอิสราเอล ถือว่ากินเวลายาวนานหลายทศวรรษ จนกลายเป็นประวัติศาสตร์ จากสงครามความขัดแย้งทางศาสนาของชนชาติยิว คริสต์ และ อิสลาม และยิ่งรุนแรงยิ่งขึ้นหลังจากที่ UN หรือ สหประชาชาติได้มีมติเห็นชอบให้มีการจัดตั้ง รัฐอิสราเอล ขึ้นในปี 1948 หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อให้มีสถานที่ปลอดภัยสำหรับชาวยิว จากการถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างรุนแรงโดยนาซีเยอรมนี ทำให้ชาวอาหรับ ปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมมาก่อน ตั้งแต่ในสมัยพระเจ้าออตโตมันปกครอง ก่อนที่จะพ่ายสงครามให้แก่อังกฤษ กลายเป็นการตั้งรัฐทับซ้อนพื้นที่อาศัยของปาเลสไตน์ ทำให้เกิดการแย่งดินแดน โดยชาวอาหรับ ปาเลสไตน์ได้อ้างสิทธิ์ของการอยู่อาศัยมาก่อน ในขณะที่ชาวยิว (ก่อนก่อตั้งเป็นอิสราเอล) ก็อ้างสิทธิ์อังกฤษยกดินแดนที่ยึดได้จากการชนะสงครามให้กับชาวยิวตามพันธสัญญา เมื่อต่างฝ่ายต่างไม่ยอม และตกลงด้วยการเจรจาไม่ได้ จึงตอบโต้กันด้วยความรุนแรง และกลายเป็นสงครามระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์เรื่อยมา 

ต่อมาในปี 1967 อิสราเอลได้ทำการยึด ฉนวนกาซา และ เวสต์แบงค์ ในสงครามใหญ่ที่ชื่อว่า “สงคราม 6 วัน” และผลของการยึดพื้นที่ทั้ง 2 แห่ง ทำให้องค์การ UN ออกมาประกาศว่าเป็นการกระทำผิดกฏหมายระหว่างประเทศ จนในที่สุดอิสราเอลตัดสินใจยอมถอนกำลังออกจากฉนวนกาซาในปี 2005 แต่ยังคอยตรึงกำลังและดูแลพื้นที่จากภายนอก จนกระทั่งในปี 2006 กลุ่มฮามาสได้ชนะการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นของฉนวนกาซา และเข้าทำการยึดครองพื้นที่ได้สำเร็จในปี 2007 พร้อมกับประกาศจะทำลายล้างอิสราเอลอย่างชัดเจน 

ในช่วงระหว่างที่อิสราเอลได้เข้าทำการยึดกาซา ได้มีการส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้า น้ำ และการคมนาคมจากอิสราเอลทั้งหมด กล่าวได้ว่า ฉนวนกาซาต้องพึ่งพาอิสราเอลมาโดยตลอด หรือแม้แต่อิสราเอลถอนกำลังออกจากพื้นที่กาซาแล้วก็ตาม แต่หลังจากเหตุการณ์ฮามาสได้ทำการข้ามพรมแดนกาซา และบุกโจมตีอิสราเอลตอนใต้เมื่อวันเสาร์ที่ 7 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันหยุดสำคัญของอิสราเอล ส่งผลให้มีชาวอิสราเอลเสียชีวิตจำนวนมาก รวมถึงนักท่องเที่ยว และแรงงานต่างชาติ ซึ่งมีชาวไทยรวมอยู่ด้วย จากการถูกจรวดและการกราดยิงไม่เลือกหน้าโดยกลุ่มฮามาส ก่อชนวนสงครามใหญ่ล่าสุด อิสราเอลจึงตัดขาดการส่งกระแสไฟฟ้า น้ำ รวมไปถึงสัญญาณคมนาคมต่าง ๆ ไปยังกาซาโดยสิ้นเชิง 

ภาพจาก : https://bnn.network/

โมฮัมเม็ด ดีฟ หัวหน้าฝ่ายกองกำลังของฮามาส ได้ระบุว่าการโจมตีที่เกิดขึ้นนั้น เพื่อเป็นการตอบโต้ที่อิสราเอลปิดล้อมฉนวนกาซามายาวนานถึง 16 ปี อีกทั้งที่อิสราเอลเข้าบุกค้นพื้นที่เวสต์แบงค์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รวมถึงครั้งที่อิสราเอลกระทำการรุนแรงกับชาวปาเลสไตน์ในมัสยิดอัลอักซอ ขณะที่มุสลิมปาเลสไตน์กำลังทำพิธีในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขา 

องค์การอนามัยโลกได้ออกมาเรียกร้องให้มีการเปิดเส้นทางเข้ายังพื้นที่ฉนวนกาซา เพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชน ผู้บริสุทธิ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสงครามครั้งนี้ แม้ว่าอิสราเอลจะยังคงเดินหน้ายกทัพปิดล้อมกาซา เนื่องจากขณะนี้ได้มีประชาชนชาวกาซากว่า 2 แสนรายต้องพลัดถิ่นที่อยู่อาศัย รวมไปถึงผู้บริสุทธิ์อื่น ๆ ที่ถูกจับเป็นตัวประกัน ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับความขัดแย้งระหว่างชาวยิว อิสราเอล และ ชาวอาหรับ ปาเลสไตน์ 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากลุ่มฮามาสจะเป็นชาวปาเลสไตน์ แต่ใช่ว่าชาวปาเลสไตน์ทุกคนเป็นสมาชิกกลุ่มฮามาส และทั่วโลกจยังคงต้องจับตามองว่าสถานการณ์จะเป็นไปอย่างไร ตราบใดที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะยังคงมุ่งมั่นในการพุ่งรบอย่างไม่เลิกรา คำว่า “สันติ” ก็อาจยังมาไม่ถึง จนกว่าจะสูญสิ้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งวันนั้นก็อาจไม่มีรอยยิ้มของผู้กำชัยชนะสงคราม แต่อาจมีเพียงคราบน้ำตาบนกองเลือดมหาศาลที่ทาทาบไปทั่วดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่ทั้ง 2 ฝ่ายต่างต้องการครอบครอง