โรคกลัวฝนมีจริงไหม? อาการแพนิคที่หลายคนคาดไม่ถึง

เพื่อนๆ ทราบหรือไม่ว่า “โรคกลัวฝน” มีอยู่จริง เป็นหนึ่งในโรคทางจิตเวชที่ต้องคอยสังเกต เพื่อเป็นแนวทางในการรับมือยามฝนตก

โดยเฉพาะหน้าฝนในประเทศไทย จริงๆ ไม่ต้องเป็นโรคกลัวฝนก็ได้ แค่คนธรรมดาที่ไม่ได้แพนิคอะไรก็ยังอดน้ำตาไหลไม่ได้ เพราะเหมือนฝนเจ้ากรรมทำเป็นรู้ดี ตกเป็นเวลาซะด้วย โดยเฉพาะช่วง 7-8 โมงกับ 4-5 โมงเนี่ย ขยันตกเหลือเกิน แต่สำหรับคนที่เป็นโรคกลัวฝนแล้ว นี่มันไม่ใช่แค่เรื่องขำขันเท่านั้นนะ วันนี้เราจะพาทุกคนไปทำความเข้าใจว่า โรคกลัวฝนคืออะไร  หรือมีวิธีการรักษาอย่างไรบ้าง

โรคกลัวฝนคืออะไร

โรคกลัวฝน หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Pluviophobia เป็นอาการที่รู้สึกกลัว หรือผวาตกใจเมื่อได้ยินเสียงฝน โดยเฉพาะตอนที่เกิดฟ้าแล่บ หรือฟ้าร้อง เราจะสามารถเห็นอาการนี้ได้ชัดที่สุด โดยปกติแล้วอาการนี้จะเกิดจากความกลัวหรือประสบการณ์เลวร้ายที่ฝังอยู่ในจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นทั้งจากตอนเด็กหรือตอนโต เสียงฟ้าร้องและแสงสว่างจากฟ้าแล่บ ก็เป็นตัวกระตุ้นอย่างดีในการดึงความทรงจำในอดีตกลับขึ้นมา

จริงๆ ความกลัวเสียงฟ้าร้องจะมีชื่อเรียกแยกออกไปอีกว่า Ombrophobia ที่จะกลัวเกิดอาการแพนิคเมื่อได้ยินเสียงฟ้าร้องเสียงดัง แต่ด้วยความที่ฝนมักจะพาสิ่งเหล่านี้มาด้วย ทำให้ผู้ที่เป็นโรคกลัวฝนจะมีความกลัวต่อทั้งเสียงฝนและเสียงฟ้าร้อง

ในตอนที่ยังไม่ตกแต่ฟ้าเริ่มมืด ตั้งเค้าส่อแววว่าจะตก ผู้ที่มีอาการกลัวฝนจะแสดงออกชัดถึงความตื่นตัว มีความกังวล เหงื่อออกที่มือ ใจสั่นและหายใจหอบร่วม ระดับความรุนแรงมักจะต่างกันออกไปตามแต่ประสบการณ์ที่ได้รับมาในแต่ละคน

โรคกลัวฝนรับมืออย่างไรได้บ้าง

แม้ว่าจะทำให้ชีวิตลำบากโดยเฉพาะในหน้าฝน แต่หากอาการไม่ได้รุนแรงมากนัก การหลบเค้าไปในตึกที่ได้ยินเสียงฝนตกน้อยลงช่วยได้เยอะเลย และหากสามารถเข้าไปอยู่ในห้องที่ตัดเสียงรบกวนได้ เช่น ห้องซ้อมดนตรี ห้องอัดเสียง ฯลฯ ก็จะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด

แต่หากในผู้ที่มีอาการที่ควรได้รับการรักษา เช่น มีอาการย้ำคิดย้ำทำเมื่อจะเกิดฝน จากภาวะความกังวลที่อยู่ในจิตใจ อาจต้องได้รับการบำบัดจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และหากมีการประเมินว่าอยู่ในระดับรุนแรง ก็อาจจำเป็นต้องมีการบำบัดควบคู่ไปกับการทานยาร่วมด้วย

ดังนั้นเมื่อเข้าสู่ช่วงหน้าฝนที่ฝนตกหนัก หากใครมีอาการมือสั่น ใจสั่น เกิดอาการวิตกกังวล ลองเช็กตัวเองดูนะว่า กำลังเป็นโรคกลัวฝนอยู่หรือไม่ ซึ่งหากมีอาการอ่อนๆ สามารถเริ่มบำบัดด้วยตัวเองได้ ดังนี้

  • ฝึกการหายใจเป็นประจำ
  • ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
  • การทำสมาธิ
  • และการทำโยคะ

ถ้าหากใครลองทำแล้วไม่เห็นผลใดๆ และมีแนวโน้มว่าจะควบคุมตัวเองไม่ได้เมื่อเกิดฝน ให้รีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทันที