ทำไม ตะเกียบคีบหมูดิบ ถึงฆ่าเราตายได้ 

ตะเกียบคีบหมูดิบ

ระวัง!! ตะเกียบที่ใช้คีบหมูกระทะ อาหารปิ้งย่างแสนอร่อย ที่กำลังจะคีบเข้าปากคุณ อาจเป็นหนทางพาไปสู่ความตายในไม่กี่นาทีข้างหน้า ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? 

ในบทความนี้เราจะมาพาท่านรู้จักกับ “โรคไข้หูดับ” ที่มาพร้อมกับความอร่อย โดยเฉพาะเมนูอาหารไม่สุก หรือกึ่งสุกกึ่งดิบ ไม่ว่าจะเป็น ลาบเลือด ก้อย หลู้ หรือแม้แต่อาหารปิ้งย่างสุดฮิต อย่าง หมูกระทะ ชาบู จิ้มจุ่ม หรือ สุกี้ ซึ่งเป็นอีกสาเหตุของการได้รับเชื้อและป่วยเป็นโรคหูดับ และทำให้มีผู้เสียชีวิตมาแล้วในหลายประเทศ และเริ่มมีการแพร่กระจายโรคนี้ในประเทศไทยแล้วในขณะนี้ ฉะนั้น เราจึงควรทำความรู้จักและรู้วิธีป้องกัน ซึ่งเป็นโรคที่อยู่ใกล้ตัวเรามาก เพราะมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการกินของเราเอง 

โรคไข้หูดับหรือโรคหูดับคืออะไร 

โรคไข้หูดับ คือ โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ซึ่งอาการของโรคไม่เพียงทำให้ผู้ป่วยมีอาการหูตึง หรือหูหนวกถาวรแล้ว ยังเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ 

โรคไข้หูดับเกิดจากอะไร 

โรคไข้หูดับเกิดจากอะไร
image: andersensa.com

โรคไข้หูดับเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus Suis คือ เชื้อสเตรปโตคอกคัส ซูอิส ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในทางเดินหายใจและในเลือดของหมู (สุกร) ที่กำลังป่วย โดยเชื้อนี้จะติดต่อมาสู่คนด้วยการบริโภคเนื้อหมู เครื่องในหมู และเลือดหมู แบบไม่ผ่านการปรุงสุก สุก ๆ ดิบ ๆ หรืออาจสุกไม่ทั่วถึง เช่น ลาบ ก้อย ลู่ ซึ่งมักเป็นอาหารที่นิยมทานกันในทางภาคเหนือและอีสาน รวมไปถึงอาหารปิ้งย่าง ชาบู หมูกระทะ จากการใช้ตะเกียบคีบเนื้อหมูดิบ แล้วนำไปคีบอาหารทานต่อ ทำให้ได้รับเชื้อในเนื้อหมูดิบผ่านตะเกียบนั่นเอง 

เราสามารถได้รับเชื้อสเตรปโตคอกคัส ซูอิส จากช่องทางใดบ้าง 

Streptococcus Suis

  • เชื้อเข้าสู่ร่างกายผ่านจากการกิน อาหารดิบหรือกึ่งสุกกึ่งดิบ อย่าง เนื้อหมูดิบ เป็นต้น 
  • เชื้อเข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนัง บาดแผล รอยถลอก และเยื่อบุตา ส่วนใหญ่จากการสัมผัสเชื้อจากหมูโดยตรง เช่น ผู้เลี้ยงหมูในฟาร์ม ผู้ทำงานในโรงงานฆ่าสัตว์ ผู้จำหน่ายเนื้อหมู เป็นต้น 

โรคไข้หูดับ อาการเป็นอย่างไร  

เมื่อได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย อาการผู้ป่วยไข้หูดับจะมีดังต่อไปนี้ 

  • มีไข้ 
  • หนาวสั่น 
  • ปวดศีรษะ
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง 
  • สูญเสียการทรงตัว
  • สูญเสียการได้ยิน และอาจหูหนวกถาวร
  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบ 
  • ติดเชื้อในกระแสเลือด และเสียชีวิตในที่สุด

ประเทศไทยมีอัตราการติดเชื้อและป่วยไข้หูดับไปแล้วกว่าประมาณ 300-350 คน / ปี และมีอัตราการเสียชีวิตสูงประมาณ ร้อยละ 5-10 ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และยังไม่มีทีท่าว่าจะมีอัตราที่ลดลง เนื่องจากการตรวจหาเชื้อสเตรปโตคอกคัส ซูอิส ในสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรครุนแรงนั้นทำได้ยาก และไม่สามารถดำเนินการในสถานพยาบาลขนาดเล็กได้ ทำให้ตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้ออาจมีรายงานต่ำกว่าความเป็นจริงได้ 

ยิ่งช่วงเทศกาล มีงานสังสรรค์ การเฉลิมฉลอง ยิ่งไม่พ้นเมนูอาหารขึ้นโต๊ะจำพวกปิ้งย่าง ชาบู หมูกระทะ ดังนั้น ก่อนกินจะต้องระวังและจำไว้เสมอว่า กินสุก อาหารร้อน และสะอาด จะได้ห่างไกลจากโรคไข้หูดับ

โรคไข้หูดับ